วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า




การตัดไม้ทำลายป่า
การตัดไม้ทำลายป่าคือสภาวะของป่าตามธรรมชาติที่ถูกทำลายโดยการตัดไม้และการเผาป่า
การตัดไม้ทำลายป่าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การนำต้นไม้และถ่านไม้มาใช้หรือจำหน่ายเป็นโภคภัณฑ์ ในระหว่างที่ทำการเลี้ยงสัตว์ เพาะปลูก และตั้งถิ่นฐาน บนพื้นที่ว่าง
การตัดไม้โดยไม่ปลูกทดแทนด้วยจำนวนที่เพียงพอ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อที่อยู่อาศัย ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาความแห้งแล้ง ซึ่งส่งผลเสียต่อการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยพืช บริเวณที่ป่าถูกทำลายโดยมากจะเกิดความเสียหายจากการพังทลายของหน้าดิน และพื้นที่มักจะด้อยคุณภาพลงจนกลายเป็นที่ดินที่ทำประโยชน์มิได้
ปัจจัยบางประการที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าในระดับมหภาคคือ ความไม่เอาใจใส่หรือความไม่รู้คุณค่าที่แท้จริง ขาดการให้คุณค่า การจัดการป่าไม้ที่ไม่เข้มงวด และกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่บกพร่อง ในหลายประเทศ การตัดไม้ทำลายป่าเป็นปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การสูญพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การกลายสภาพเป็นทะเลทราย และการย้ายถิ่นฐานของคนพื้นเมือง ในกลุ่มประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากรต่ำสุดที่ 4,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีการจัดการไม่ให้อัตราสุทธิของการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มสูงขึ้น
สาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่า
สาเหตุที่เป็นต้นกำเนิดของการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีมากมาย รวมถึงการทุจริตของหน่วยงานรัฐบาล การกระจายความมั่งคั่งและอำนาจอย่างไม่เสมอภาค การเพิ่มประชากรและมีประชากรมากเกินไป และการพัฒนาให้กลายเป็นเมือง บ่อยครั้งที่โลกาภิวัฒน์ถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่า แม้ว่าจะมีบางกรณีที่ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ (สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดจากขบวนการแรงงาน เงินทุน โภคภัณฑ์ และมโนคติ) ช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูป่าเฉพาะที่
ในปีพ.ศ. 2543 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอเอฟโอ) พบว่าบทบาทของพลศาสตร์ประชากรในสภาพชุมชนท้องถิ่นอาจมีหลากรูปแบบตั้งแต่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจไปจนถึงไม่มีส่วนร่วมด้วยเลยและพบว่าการตัดไม้ทำลายป่าอาจเป็นผลมาจากการรวมกันของความกดดันทางประชากรและสภาวะเศรษฐกิจซบเซา สภาพทางสังคมและเทคโนโลยี
ตามรายงานของสำนักงานเลขานุการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) สาเหตุทางตรงที่มีผลมากที่สุดคือการเกษตร การกสิกรรมเพื่อการดำรงชีพมีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่าถึงร้อยละ 48 การเกษตรเพื่อการค้ามีส่วนร้อยละ 32 การตัดไม้มีส่วนร้อยละ 14 และการตัดไม้เพื่อทำฟืนมีส่วนร้อยละ 5
มีการสืบพบว่าแรงจูงใจทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้การแปลงสภาพป่าให้ผลประโยชน์มากกว่าการอนุรักษ์ป่า เป็นการทำลายระบบนิเวศวิทยาของป่าเช่นกัน หน้าที่สำคัญหลายอย่างของป่าไม่มีตลาดรองรับ ดังนั้นจึงไม่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนต่อผู้ครอบครองป่าหรือชุมชนที่พึ่งพิงป่าเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของตน
ในทัศนคติของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ผลประโยชน์จากป่า เช่น การกักเก็บคาร์บอน หรือการสงวนความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นไปเพื่อกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นอันดับแรก และการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผลประโยชน์เหล่านั้นยังไม่เพียงพอ ประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนารู้สึกว่าบางประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ตัดไม้จากป่าในประเทศไปเมื่อหลายศตวรรษที่แล้วและได้รับผลประโยชน์มากมายจากการตัดไม้ทำลายป่า และนับว่าเป็นเรื่องที่คดโกงหากจะปฏิเสธไม่ให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้รับโอกาสเช่นเดียวกับที่ตนเคยได้ ที่น่าสงสารคือพวกเขาไม่ควรต้องออกค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์ หากคนรวยเป็นผู้ก่อปัญญานั้น
ผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นด้วยว่าอุตสาหกรรมการตัดไม้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก ในทำนองเดียวกัน ไม่มีมติที่เป็นเอกฉันท์ว่าปัญหาความยากจนเป็นส่วนสำคัญในการตัดไม้ทำลายป่า บางกลุ่มโต้แย้งว่า คนยากจนมีทีท่าว่าจะถางพื้นที่ป่ามากกว่าเพราะไม่มีทางเลือก กลุ่มอื่น ๆ โต้แย้งว่าคนจนไม่สามารถจ่ายค่าวัสดุและแรงงานที่จำเป็นในการถางป่า จากที่กล่าวอ้างว่ามีการโต้แย้งว่าการเพิ่มของประชากรเป็นแรงผลักดันให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า รายงานการศึกษาฉบับหนึ่งพบว่าการเพิ่มของประชากรจากอัตราการเกิดสูง เป็นแรงผลักดันอันดับแรกที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าเพียงร้อยละ 8 จากหลายสาเหตุ
นักวิจารณ์บางคนสังเกตเห็นการแปรเปลี่ยนของแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนมากการตัดไม้ทำลายป่าเกิดจากกิจกรรมเพื่อการดำรงชีพและโครงการเพื่อการพัฒนาที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน เช่น การย้ายถิ่นฐานในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และประเทศที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นในละตินอเมริกา อินเดียและศรีลังกา ฯลฯ ในช่วงศตวรรษที่ 19 และช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ในช่วงทศวรรษที่ 1990 การตัดไม้ทำลายป่าส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางด้านอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงานสกัดวัตถุดิบ ฟาร์มปศุสัตว์ระดับมหภาค และการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม
ทางด้านชั้นบรรยากาศ
การตัดไม้ทำลายป่ายังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและกำลังมีอิทธิพลต่ออุณหภูมิและภูมิประเทศ การตัดไม้ทำลายป่ามีส่วนในภาวะโลกร้อนและบ่อยครั้งที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปรากฏการณ์เรือนกระจกที่ทวีความรุนแรงขึ้น
การตัดไม้ทำลายป่าในเขตร้อนมีส่วนประมาณร้อยละ 20 ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนโลก ตามที่กล่าวโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อน ทว่าการคำนวณเมื่อไม่นานมานี้เสนอแนะว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (ยกเว้นการปล่อยก๊าซในดินพรุ) มีส่วนร้อยละ 12 จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ โดยมีขอบเขตอยู่ในร้อยละ 6-17
ต้นไม้และพืชอื่น ๆ แยกธาตุคาร์บอน (ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) ออกจากชั้นบรรยากาศในระหว่างกระบวนการสังเคราะห์แสงและจะปล่อยก๊าซออกซิเจนกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศในระหว่างการหายใจตามปกติ ต้นไม้และผืนป่าสามารถแยกธาตุคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศได้เฉพาะเวลาที่เจริญเติบโตอย่างคล่องตัว
ทั้งการเน่าเปื่อยและการเผาไหม้ของไม้ สามารถปล่อยธาตุคาร์บอนจำนวนมากที่เก็บสะสมไว้กลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ ในการนำธาตุคาร์บอนกลับคืนสู่ป่า ต้องเก็บเกี่ยวไม้และแปรรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้การได้นาน และต้องปลูกต้นไม้ทดแทน การตัดไม้ทำลายป่าอาจทำให้เกิดการปลดปล่อยธาตุคาร์บอนที่สะสมอยู่ในดิน ผืนป่าเป็นที่กักเก็บธาตุคาร์บอนและสามารถเป็นได้ทั้งแหล่งกักเก็บและแหล่งทรัพยากร ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ผืนป่าที่เติบโตเต็มที่จะสลับสภาพระหว่างความเป็นแหล่งกักเก็บล้วน ๆ กับความเป็นแหล่งทรัพยากรล้วน ๆ ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าในเขตร้อนและความเสื่อมโทรมของป่า (REDD) ในประเทศกำลังพัฒนา มีขึ้นเพื่อเป็นแนวทางใหม่ ๆ ที่จะทำให้นโยบายที่กำลังใช้อยู่เกี่ยวกับสภาพอากาศนั้นสมบูรณ์ ความคิดนี้ประกอบด้วยการมอบค่าชดเชยเป็นเงิน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า
โดยมากเชื่อกันว่าป่าฝนมีส่วนสำคัญในการผลิตก๊าซออกซิเจนจำนวนมากให้กับโลก ทว่าในตอนนี้ได้รับการยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์แล้วว่า ป่าฝนผลิตก๊าซออกซิเจนสุทธิได้น้อยให้แก่ชั้นบรรยากาศ และการตัดไม้ทำลายป่าจะไม่ส่งผลต่อระดับของก๊าซออกซิเจนในชั้นบรรยากาศ
อย่างไรก็ตามการเผาเถ้าถ่านและการเผาพืชในป่าเพื่อถางที่ดิน เป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งมีส่วนให้เกิดภาวะโลกร้อน ผืนป่าสามารถสกัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษจากอากาศ ดังนั้นจึงถือว่ามีส่วนช่วยให้เกิดเสถียรภาพในชีวมณฑล
ทางด้านอุทกวิทยา
การตัดไม้ทำลายป่ามีผลต่อวัฏจักรของน้ำ ต้มไม้สกัดน้ำบาดาลผ่านทางรากและปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อใดที่พื้นที่ป่าบางส่วนถูกทำลาย ต้นไม้จะไม่คายน้ำอีกต่อไป มีผลทำให้สภาพอากาศแห้งมากขึ้น การตัดไม้ทำลายป่าลดปริมาณของน้ำในดินและน้ำบาดาล เช่นเดียวกับความชื้นในชั้นบรรยากาศ การตัดไม้ทำลายป่าลดการเกาะตัวของดิน ทำให้เกิดผลที่ตามมาคือหน้าดินพังทลาย น้ำท่วม และดินถล่ม ผืนป่าช่วยเพิ่มพูนการดูดซึมน้ำในชั้นหินอุ้มน้ำในบางพื้นที่ แม้ว่าในพื้นที่ส่วนใหญ่ ผืนป่าจะเป็นตัวการหลักของการสูญเสียน้ำในชั้นหินนี้
พื้นที่ป่าที่มีขนาดเล็กลงมีความสามารถน้อยลงในการดักจับ ดูดซับ และปลดปล่อยปริมาณน้ำฝน แทนที่สกัดกั้นปริมาณน้ำฝนซึ่งจะซึมผ่านไปยังระบบน้ำบาดาล พื้นที่ป่าที่ถูกทำลายจะเป็นตัวการให้เกิดน้ำผิวดิน ซึ่งจะเคลื่อนที่ได้ไวกว่าการไหลของน้ำบาดาล การเคลื่อนที่ที่เร็วกว่าของน้ำผิวดินอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและเกิดน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่รุนแรงกว่าที่เกิดกับพื้นที่ที่มีผืนป่าปกคลุม
การตัดไม้ทำลายป่ามีส่วนในการลดอัตราการระเหยและการคายน้ำ ซึ่งทำให้ความชื้นในชั้นบรรยากาศน้อยลง ในบางกรณีส่งผลกระทบต่อระดับปริมาณน้ำฝน ตามทิศทางของลมที่พัดมาจากพื้นที่ที่ป่าถูกทำลาย เนื่องจากป่าที่อยู่ตามทิศทางของลมไม่ได้นำน้ำกลับมาหมุนเวียนเพื่อใช้ใหม่ แต่น้ำได้กลายสภาพไปเป็นน้ำผิวดินและไหลกลับไปยังมหาสมุทรโดยตรง จากผลการศึกษาหนึ่งในขั้นต้นพบว่า ในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยในแต่ละปีลดลง 1 ใน 3 ในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1980 ต้นไม้และพืชโดยทั่วไปส่งผลกระทบอย่างมากต่อวัฏจักรของน้ำ
o    ร่มไม้ช่วยดักจับปริมาณน้ำฝน ซึ่งจะระเหยกลับไปสู่ชั้นบรรยากาศ (การดักจับโดยร่มไม้)
o    เศษซากกิ่งก้านต้นไม้และลำต้นช่วยชะลอน้ำผิวดิน
o    รากต้นไม้สร้างช่องในดินขนาดใหญ่ซึ่งจะเพิ่มการแทรกซึมของน้ำ
o    ต้นไม้มีส่วนช่วยในการระเหยบนดินและลดความชื้นในดินผ่านการคายน้ำ
o    เศษซากและเศษตกค้างทางอินทรีย์เปลี่ยนคุณสมบัติของดินซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถของดินในการเก็บกักน้ำ
o    ใบของต้นไม้ควบคุมความชุ่มชื้นของชั้นบรรยากาศโดยการคายน้ำร้อยละ 99 ของน้ำที่รากดูดซึม เคลื่อนย้ายไปที่ใบและถูกคายที่นั่น
ดังนั้น การที่ต้นไม้มีน้ำหรือขาดน้ำ สามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำบนผิวดิน ในดิน ใต้ดิน และในชั้นบรรยากาศ ซึ่งต่อมาสิ่งนี้จะเปลี่ยนอัตราการกัดเซาะและแหล่งน้ำที่หาได้สำหรับการทำงานของระบบนิเวศวิทยาและสำหรับประโยชน์ใช้สอยของมนุษย์
ป่าไม้อาจมีผลต่อปัญหาน้ำท่วมในกรณีที่เกิดจากฝนตกหนัก ซึ่งเกินศักยภาพในการเก็บกักน้ำของดินในป่า หากดินในป่าอยู่ในสภาพที่ใกล้จุดอิ่มตัว
ป่าฝนเมืองร้อนผลิตน้ำจืดประมาณร้อยละ 30 ให้กับโลก
ดิน
ป่าไม้ที่ยังไม่ถูกรุกราน มีอัตราการสูญเสียดินที่ต่ำ เพียงแค่ประมาณ 2 ตัน ต่อ ตารางกิโลเมตร โดยทั่วไปการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มอัตราการพังทลายของหน้าดิน โดยการเพิ่มประมาณของน้ำผิวดินและลดการป้องกันหน้าดินของเศษซากของต้นไม้ เรื่องนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับดินในป่าฝนเขตร้อนที่ถูกดูดซึมมากเกินไป ในการทำงานของกรมป่าไม้เองก็เพิ่มการพังทลายของหน้าดิน ผ่านการพัฒนาถนนและการใช้อุปกรณ์เครื่องกล
ที่ราบในประเทศจีนที่เกิดจากดินลมหอบ ถูกทำลายพื้นที่ป่าไปหลายพันปีแล้ว หลังจากนั้นก็เกิดการพังทลายของหน้าดิน เกิดเป็นหุบเขาที่มีรอยตัดเว้ามาก และทำให้เกิดตะกอนซึ่งทำให้แม่น้ำเหลืองมีสีเหลือง และทำให้เกิดน้ำท่วมจากแม่น้ำที่อยู่ต่ำลงไป (ดังนั้นแม่น้ำนี้จึงมีชื่อว่าแม่น้ำวิปโยค”)
การตัดต้นไม้ไม่ได้เพิ่มอัตราการพังทลายของหน้าดินเสมอไป ในบางแถบทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ไม้พุ่มและต้นไม้รุกล้ำเข้าไปในทุ่งหญ้า ต้นไม้ทำให้สูญเสียหญ้าที่อยู่ระหว่างร่มไม้มากขึ้น บริเวณที่อยู่ระหว่างร่มไม้ที่โล่งเตียนนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะพังทลาย ตัวอย่างเช่นที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติแบนเดอเลียร์ กรมป่าไม้แห่งสหรัฐอเมริกา ศึกษาวิธีฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาก่อนหน้านี้ และลดการพังทลายของหน้าดินโดยการตัดต้นไม้
รากต้นไม้ยึดดินเข้าไว้ด้วยกัน และหากผืนดินอยู่ตื้นพอ ผืนดินจะยึดดินไว้ให้อยู่กับหินดานที่อยู่ใต้ลึกลงไป การตัดไม้บนพื้นที่ลาดชัด ซึ่งที่ผืนดินอยู่ตื้น จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดดินถล่ม ซึ่งทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบตกอยู่ในอันตราย อย่างไรก็ตามการตัดไม้ทำลายป่าส่วนใหญ่มีผลกระทบแค่กับลำต้นของต้นไม้ หากยังปล่อยให้รากยึดติดอยู่กับดิน ก็แก้ไขปัญหาดินถล่มได้
ทางด้านนิเวศวิทยา
การตัดไม้ทำลายป่าส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพเสื่อมถอย การตัดและทำลายพื้นที่ที่ป่าไม้ปกคลุมทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ป่าไม้เกื้อหนุนความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า นอกเหนือจากนั้นป่าไม้ยังเป็นแหล่งที่เอื้อต่อการอนุรักษ์พืชจำพวกยารักษาโรค ด้วยเหตุผลที่เขตชีวชาติในป่าเป็นแหล่งที่หาสิ่งอื่นมาทดแทนไม่ได้ของตัวยาแบบใหม่ ๆ (เช่น แท็กซอล) การตัดไม้ทำลายป่าอาจเป็นการทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรม (เช่น ภูมิต้านทานของพืชผล) โดยไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
เนื่องด้วยป่าฝนเขตร้อนเป็นระบบนิเวศวิทยาที่มีความหลากหลายมากที่สุดบนโลก และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่โลกรู้จักประมาณร้อยละ 80 พบได้ในป่าฝนเขตร้อน การทำลายพื้นที่ป่าขนาดใหญ่จึงทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมลงและทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกระบวนการการสูญพันธุ์ยังมีไม่เพียงพอต่อการคาดการณ์ให้แม่นยำถึงผลกระทบที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ผลการคาดการณ์เรื่องความเสียหายทางความหลากหลายทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับวนศาสตร์ มาจากแบบจำลองอาณาบริเวณของประเภทสิ่งมีชีวิต ด้วยสมมุติฐานที่ว่าหากป่าไม้เสื่อมโทรมลง ความหลากหลายทางสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตก็เสื่อมลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แบบจำลองหลายแบบได้รับการพิสูจน์แล้วว่าผิดและไม่จำเป็นเสมอไปที่การสูญเสียแหล่งที่อยู่จะนำไปสู่การสูญเสียสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในระดับมหภาค เป็นที่รู้กันว่าแบบจำลองอาณาบริเวณของประเภทสิ่งมีชีวิต คาดการณ์เกินจริงเกี่ยวกับตัวเลขของสายพันธุ์ที่ตกอยู่ในอันตรายในอาณาบริเวณนั้น ๆ ที่ที่ยังมีการตัดไม้ทำลายป่าอยู่ ทั้งยังคาดการณ์เกินจริงไปมากเกี่ยวกับตัวเลขของสายพันธุ์ที่ตกอยู่ในอันตราย ซึ่งแพร่กระจายอยู่ทั่วไป มีการคาดคะเนว่าทุก ๆ วัน เราสูญเสียสายพันธุ์พืช สัตว์ และแมลง 137 สายพันธุ์ เนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่าฝน รวมแล้วเท่ากับ 50,000 สายพันธุ์ต่อปี อีกด้านหนึ่งกล่าวว่า การตัดไม้ทำลายป่าฝนเขตร้อนมีส่วนในการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ในยุคโฮโลซีนที่กำลังดำเนินอยู่
อัตราการสูญพันธุ์ที่เป็นที่รู้กันจากอัตราการตัดไม้ทำลายป่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ในแต่ละปี มีเพียงประมาณ 1 สายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก ซึ่งเป็นการคำนวณคร่าว ๆ จากประมาณ 23,000 สายพันธุ์ ต่อปีจากสายพันธุ์ทั้งหมด การคาดการณ์กล่าวว่ามากกว่าร้อยละ 40 ของสายพันธุ์สัตว์และพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะถูกกวาดล้างในศตวรรษที่ 21
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
รายงานที่สำคัญฉบับหนึ่งสรุปไว้ในงานประชุมเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ณ กรุงบอนน์ ว่า ความเสียหายต่อป่าและต่อลักษณะอื่น ๆ ของธรรมชาติอาจลดมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนจนบนโลกลงครึ่งหนึ่ง และลดผลผลิตมวลรวมประเทศลงประมาณร้อยละ 7 ภายในปีพ.ศ. 2593 ตามประวัติศาสตร์ การใช้ประโยชน์จากผลผลิตจากป่ารวมถึงการใช้ไม้ซุงและถ่านไม้ มีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของสังคมมนุษย์เทียบได้กับบทบาทของน้ำและพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกได้
ในวันนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มใช้ประโยชน์จากไม้ซุงในการสร้างบ้าน และใช้เยื่อไม้ในการทำกระดาษ ในประเทศที่กำลังพัฒนา เกือบสามพันล้านคนใช้ไม้ในการให้ความร้อนและหุงหาอาหาร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและที่กำลังพัฒนา รายได้ของเศรษฐกิจในระยะสั้นมาจากการแปรรูปป่าให้กลายเป็นที่เพาะปลูก หรือการแสวงหาประโยชน์เกินควรจากผลิตภัณฑ์ไม้ ซึ่งโดยมากจะนำไปสู่การสูญเสียรายได้ในระยะยาว รวมถึงความสามารถในการผลิตทางชีววิทยาในระยะยาว (ดังนั้นจึงเป็นการลดผลประโยชน์ที่ได้จากธรรมชาติด้วย) ในแอฟริกาตะวันตก มาดากัสการ์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในภูมิภาคอื่น ๆ อีกหลายภูมิภาค ประสบปัญหารายได้ต่ำลง เนื่องมาจากการเก็บเกี่ยวไม้ซุงได้น้อยลง ในแต่ละปี การตัดไม้ที่ผิดกฎหมายทำให้เศรษฐกิจของชาติสูญเสียเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สาเหตุทางด้านประวัติศาสตร์
ในบางสังคม มีการตัดไม้ทำลายป่าในระดับจุลภาคมาหลายหมื่นปีก่อนจะเริ่มกำเนิดอารยธรรม หลักฐานชิ้นแรกของการตัดไม้ทำลายป่าปรากฏในยุคหิน ในตอนนั้นอาจเป็นการแปลงสภาพจากป่าแบบปิดให้กลายเป็นระบบนิเวศวิทยาที่เปิดกว้างมากขึ้นและเอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ที่มนุษย์ล่า เมื่อมนุษย์เริ่มทำการเกษตร พื้นที่ป่าถูกทำลายมากขึ้น และไฟกลายเป็นเครื่องมือหลักในการถางพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก
ในยุโรป พบหลักฐานชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เชื่อถือได้ มีอายุก่อน 7,000 ปีก่อนคริสต์กาล นักหาอาหารในยุคหินใช้ไฟเพื่อเปิดช่องทางล่อกวางแดงและหมูป่า ในสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ต้นไม้สายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อร่มเงา เช่น ในบันทึกประวัติของละอองเรณูของต้นโอ๊กและต้นแอ็ช ถูกแทนที่โดยต้นเฮเซ็ล ไม้พุ่มมีหนาม หญ้า และไม้ป่าที่มีขนตามใบ การทำลายป่าทำให้การคายน้ำต่ำลง ผลคือเกิดป่าพรุในที่สูง
การลดลงของการแพร่กระจายของละอองเรณูต้นเอล์ม ที่แพร่ไปทั่วยุโรปในช่วงก่อน 8,400-8,300 ปีก่อนคริสต์กาล และก่อน 7,200-7,000 ปีก่อนคริสต์กาล เริ่มจากยุโรปทางตอนใต้เคลื่อนที่ไปทีละนิดไปยังตอนเหนือของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ แสดงให้เห็นถึงการถางพื้นที่โดยใช้ไฟในช่วงเริ่มการทำการเกษตรในยุคหินใหม่
ในยุคหินใหม่ พบการตัดไม้ทำลายป่าที่ขยายวงกว้างขึ้นเพื่อการทำกสิกรรม ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์กาล ขวานหินที่ทำขึ้นไม่ได้ทำมาจากหินเหล็กไฟเท่านั้น แต่ทำจากหินแข็งได้หลายชนิดที่พบอยู่ทั่วไปในเกาะอังกฤษและในทวีปอเมริกาเหนือเช่นกัน ทั้งนี้ยังรวมถึงอุตสาหกรรมขวานแลงเดลที่มีชื่อเสียงในแถบอิงลิชเลค เหมืองแร่ที่ได้รับการพัฒนาในเมืองเพนแมนมาว์ ทางตอนเหนือของแคว้นเวลส์ และในที่อื่น ๆ อีกหลายที่
หินขัดหยาบผลิตขึ้นในท้องถิ่นใกล้ ๆ กับเหมืองแร่ และมีบางชิ้นที่ขัดจนเสร็จอย่างปราณีตในท้องถิ่นนั้น ขั้นตอนนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความแข็งแกร่งเชิงกลไกให้กับขวาน แต่ยังทำให้รุกล้ำเข้าไปในป่าง่ายยิ่งขึ้น หินเหล็กไฟยังคงถูกนำมาใช้จากแหล่งของหินแร่ เช่น เหมืองกริมส์เกรฟส์ และอีกหลาย ๆ เหมืองทั่วยุโรป
หลักฐานของการตัดไม้ทำลายป่าพบในเกาะครีต ยุคไมนวน ตัวอย่างเช่น สภาพแวดล้อมของพระราชวังคนอสซอส ซึ่งพื้นที่ป่าถูกทำลายในยุคสำริด
ประวัติศาสตร์ก่อนยุคอุตสาหกรรม
ตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ มนุษย์เป็นนักล่า นักสะสมของป่า ในพื้นที่ส่วนใหญ่เช่น ป่าอเมซอน บริเวณที่อยู่ในเขตร้อน อเมริกากลาง และหมู่เกาะแคริบเบียน เพียงแค่หลังจากเกิดความขาดแคลนไม้และผลิตผลจากป่า ก็มีนโยบายที่มีผลบังคับใช้เพื่อทำให้แน่ใจว่าการใช้ทรัพย์กรป่าไม้ในเป็นไปในแนวทางที่ยั่งยืน
ในสมัยกรีกโบราณ มีการศึกษาในระดับภูมิภาค 3 ฉบับเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การพังทลายของหน้าดินและการทับถมของตะกอน พบว่าไม่ว่าที่ใดก็ตามที่มีหลักฐานมากพอ ก็จะพบการเกิดของการพังทลายของหน้าดิน ในช่วงประมาณ 500-1,000 ปีที่เริ่มมีการทำกสิกรรมในหลายภูมิภาคของกรีซ ผันแปรไปตั้งแต่ยุคหินใหม่ช่วงหลังไปจนถึงยุคสำริดตอนต้น
หลายพันปีหลังจากช่วงกลางยุคเงิน พบการพังทลายของหน้าดินที่รุนแรง แต่เกิดไม่ต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ในอดีตมีเชิงตะกอนเกาะอยู่ตามท่าเรือที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งทางใต้ของคาบสมุทรเอเชียไมเนอร์ (เช่น เมืองคลารัส ตัวอย่างเมืองเอฟาซัส เมืองพริเอเน และเมืองมิเลตุส ที่ท่าเรือถูกทิ้งร้างเนื่องมาจากการทับถมของโคลนตะกอน) และทางชายฝั่งของประเทศซีเรียในช่วงศตวรรษสุดท้ายก่อนคริสต์กาล
หมู่เกาะอีสเตอร์ประสบปัญหาดินพังทลายอย่างรุนแรงเมื่อศตวรรษที่ผ่านมานี้ ที่เลวร้ายลงเนื่องจากการทำการเกษตรและการตัดไม้ทำลายป่า แจเร็ด ไดมอน เขียนบันทึกไว้อย่างครอบคลุมถึงการพังทลายของหมู่เกาะอีสเตอร์โบราณในหนังสือของเขาเรื่อง การพังทลาย (Collapse) การสาบสูญไปของต้นไม้บนเกาะดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการล่มสลายของอารยธรรมในช่วงคริสศตวรรษที่ 17 และ 18 แจเร็ดให้เหตุผลเกี่ยวกับการล่มสลายว่าเป็นเพราะการตัดไม้ทำลายป่าและการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดมากเกินไป
โคลนอุดตันที่มีชื่อเสียงของท่าเรือเมืองบรูจ ซึ่งเคลื่อนย้ายการค้าบริเวณท่าเรือไปยังเมืองแอนท์เวิร์ป ก็เป็นไปตามช่วงเวลาของการเพิ่มขึ้นของตะกอนที่ทับถมเพิ่มขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำตอนบน (และเห็นได้ชัดว่าเป็นไปตามการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้นด้วย) ในช่วงต้นของยุคกลาง เมืองรีซที่อยู่ทางตอนบนของแคว้นโปรวองซ์ มีดินตะกอนที่น้ำพัดมาจากแม่น้ำเล็ก ๆ 2 สาย ดินตะกอนนี้ยกให้ก้นแม่น้ำสูงขึ้นและขยายพื้นที่ที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งจะค่อย ๆ ฝังถิ่นฐานของชาวโรมันให้จมอยู่ในดินโคลนที่น้ำพัดมา และค่อย ๆ ย้ายสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ ให้อยู่บนที่ที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน หุบเขาที่เป็นต้นน้ำเหนือเมืองรีซก็ถูกใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์
สิ่งที่ขัดขวางความเจริญที่พบเห็นตามปกติคือ สังคมเมืองมักจะสร้างขึ้นในพื้นที่ป่า ซึ่งมีไม้สำหรับการทำอุตสาหกรรม (เช่น การก่อสร้าง การสร้างเรือ การทำเครื่องปั้นดินเผา) เมื่อเกิดการตัดไม้ทำลายป่าโดยปราศจากการปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมเพื่อทดแทน ทำให้หาทรัพยากรไม้ในท้องถิ่นให้เพียงพอต่อการดำรงการแข่งขันได้ยากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การละทิ้งถิ่นฐานตามที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในยุคโบราณของเอเชีย
ไมเนอร์ เนื่องด้วยความต้องการเชื้อเพลง การทำเหมืองแร่และการประกอบโลหกรรมมักจะนำไปสู่ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและการละทิ้งถิ่นฐานบ้านเมือง
ด้วยเหตุที่ประชากรส่วนใหญ่ยังคงกระตือรือร้นใน (หรือพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า ยังต้องพึ่งพา) การทำการเกษตร แรงบีบคั้นหลัก ๆ ในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการถางพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ โดยยังมีพื้นที่ที่มีหญ้าปกคลุมเหลืออยู่เสมอ (และบางส่วนถูกใช้ เช่นในการสะสมฟืน ไม้ซุง และผลไม้ หรือเพื่อเลี้ยงสุกร) เพื่อให้สัตว์ป่ายังดำรงชีวิตอยู่ การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ส่วนตนในการล่าสัตว์ของกลุ่มอภิชน (ชนชั้นสูงหรือกลุ่มนักบวช) มักจะเป็นการป้องกันป่าไม้ที่สำคัญ
ส่วนสำคัญในการกระจายตัวของประชากร (และอัตราการเพิ่มประชากรที่มั่นคงขึ้น) เกิดขึ้นจากการบุกเบิกของพวกนักบวช (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะเบเนดิกติน และคณะเพื่อการค้า) และพวกเจ้าศักดินาบางคน ซึ่งเกณฑ์ชาวนามาตั้งถิ่นฐาน (และกลายเป็นผู้จ่ายภาษี) โดยเสนอเงื่อนไขทางกฎหมายและการเสียภาษีที่ค่อนข้างดี แม้บางครั้งจะมีนักเก็งกำไรหวังจะกระตุ้นแรงจูงใจภายในเมือง ชาวเมืองก็มุ่งมั่นทำการเกษตรหรือบางครั้งก็ทำแม้แต่ในกำแพงปราการของเมือง
เมื่อจำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็วเพราะโรคกาฬโรคและการทำสงครามทำลายล้าง (เช่น กองทัพมองโกลของเจงกิสข่านที่บุกยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง และสงครามสามสิบปีในเยอรมนี) เหตุนี้ทำให้เกิดการละทิ้งถิ่นฐาน ที่ดินกลับคืนสู่ธรรมชาติ แต่ป่าไม้ที่เกิดขึ้นก็ขาดความหลากหลายทางชีวภาพแบบที่เคยมีมาก่อน
ตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 1100 ถึง 1500 การตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตก อันเนื่องมาจากการขยายตัวของประชากร การสร้างเรือกำปั่นจำนวนมากจากไม้ ในดินแดนยุโรปที่เป็นเจ้าสมุทร (หรือชายฝั่ง) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เพื่อออกสำรวจ เพื่อหาอาณานิคม เพื่อการค้าทาส และเพื่อการค้าในท้องทะเล กิจกรรมเหล่านี้ใช้ทรัพยากรป่าไม้จำนวนมาก การปล้นสะดมในน่านน้ำก็มีส่วนทำให้เกิดการแสวงหาทรัพยากรป่าไม้มากเกินไป เช่นในสเปน ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศหลังจากที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาแล้ว และเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนมาขึ้นอยู่กับการดำเนินงานในดินแดนอาณานิคม (การปล้นสะดม การทำเหมืองแร่ การเลี้ยงปศุสัตว์ การปลูกพืข การค้า ฯลฯ)
ในหนังสือ Changes in the Land (ความเปลี่ยนแปลงของดินแดน) (พ.ศ. 2526) วิลเลียม โครนอนได้วิเคราะห์และบันทึกรายงานของเจ้าอาณานิคมอังกฤษในช่วงคริสตศตวรรษที่ 17 เกี่ยวกับอุทกภัยตามฤดูกาลที่เพิ่มมากขึ้นในรัฐนิวอิงแลนด์ ช่วงที่ผู้ที่จะมาตั้งถิ่นฐานใหม่เริ่มถางพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร พวกเขาเชื่อว่าปัญหาน้ำท่วมนั้นเกี่ยวกับถางพื้นที่ป่าต้นน้ำกันอย่างแพร่หลาย
การใช้ถ่านหินเป็นจำนวนมหาศาลในอัตราส่วนของการทำอุตสาหกรรมในยุโรปช่วงต้นยุคใหม่ เป็นวิธีใหม่ในการผลาญป่าของโลกตะวันตก แม้แต่ในสมัยราชวงศ์สจวตของอังกฤษ การผลิตถ่านหินที่ค่อนข้างจะดั้งเดิมมากขึ้นจนถึงระดับที่รุนแรงแล้ว ในสมัยนั้นการตัดไม้ทำลายป่าขยายตัวไปทั่วเพราะต้องใช้ซุงในการสร้างเรือเพื่อทำการค้าในทะเลบอลติก และต้องมองหาป่าไม้ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในรัฐนิวอิงแลนด์เพื่อตอบสนองความจำเป็น เรือรบหลวงเนลสันแต่ละลำที่อยู่ที่เมืองทราฟัลการ์ (พ.ศ. 2348) ต้องการไม้โอ๊กที่โตเต็มวัยถึง 6,000 ต้นในการสร้าง ในฝรั่งเศส โคลเบิร์ต ปลูกป่าไม้โอ๊กเพื่อใช้เป็นแหล่งทรัพยากรสำหรับกองทัพเรือฝรั่งเศสในอนาคต เมื่อป่าไม้โอ๊กโตเต็มวัยในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 การเดินเรือเปลี่ยนแปลงไป และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เสากระโดงเรือแล้ว
ชาวยุโรปอาศัยอยู่ท่ามกลางป่าไม้ที่กว้างใหญ่ไพศาลตลอดช่วงต้นยุคกลาง หลังจากปี 1250 ชาวยุโรปถนัดในการตัดไม้ทำลายป่า จนพอมาถึงปี 1500 ทรัพยากรไม้สำหรับทำความร้อนและทำอาหารเริ่มขาดแคลน พวกเขาประสบปัญหาการขาดสารอาหารเนื่องมาจากสัตว์ป่าทั่วไปล้มตายเพราะอยู่อาศัยในป่าไม้ที่ตอนนั้นถูกทำลายไปแล้วไม่ได้ ซึ่งตลอดช่วงยุคกลางอาหารหลักของพวกเขาเป็นจำพวกโปรตีนปริมาณมากจากเนื้อสัตว์ ในปี 1500 ยุโรปอยู่ในช่วงหายนะเพราะขาดเชื้อเพลิงและอาหาร แต่ปัญหาก็ได้รับการแก้ไขในศตวรรษที่ 16 โดยการเผาถ่านหินแบบนิ่มใช้และการเพาะปลูกมันฝรั่งและข้าวโพด
ยุคอุตสาหกรรม
ในช่วงศตวรรษที่ 19 การเริ่มใช้เรือไอน้ำในสหรัฐอเมริกาเป็นสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าบริเวณแนวตลิ่งของแม่น้ำสำคัญ ๆ เช่น แม่น้ำมิสซิสซิปปี ตามมาด้วยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมคืออุทกภัยที่เพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้น ลูกเรือของเรือไอน้ำตัดต้นไม้ทุกวันบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ไอน้ำ ระหว่างแม่น้ำเซนต์หลุยส์และที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำไอดาโฮทางตอนใต้ แม่น้ำมิสซิสซิปปีกว้างขึ้นและตื้นขึ้น และร่องน้ำก็เปลี่ยนไปทางด้านข้าง
ความพยายามในการปรับปรุงการเดินเรือโดยการใช้แท่งดึงต่อไม้ ทำให้ลูกเรือต้องตัดต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ 100-200 ฟุตจากริมตลิ่ง เมืองอาณานิคมของฝรั่งเศสบางเมืองในรัฐอิลลินอยส์ เช่นเมืองคัสคัสเกีย คาโอเกีย และเซนต์ฟิลลิป ถูกน้ำท่วมและถูกละทิ้งในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 พร้อมกับสูญเสียบันทึกทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับโบราณคดีวิทยา
เหตุการณ์เฉพาะที่เกิดคล้ายกัน เห็นได้จากการตัดไม้ทำลายป่าในศตวรรษที่ 20 ที่เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศ
อัตราการตัดไม้ทำลายป่า
การตัดไม้ทำลายป่าในโลกเพิ่มขึ้นมากในช่วงปีพ.ศ. 2395 คาดการณ์ว่า ครึ่งหนึ่งของป่าเมืองร้อนบนโลกที่โตเต็มวัยที่มีขนาดระหว่าง 7.5-8 ตารางกิโลเมตร และป่าไม้ขนาด 15-16 ตารากิโลเมตรที่ปกคลุมโลกมาจนถึงปี 2490 ถูกถางไปแล้วในตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนทำนายว่าหากไม่มีการตรวจวัดพื้นที่ป่าในระดับโลก (เช่นการค้นหาหรือปกป้องป่าไม้เก่าแก่ที่เติบโตแล้วและยังไม่ถูกรบกวน) ภายในปี 2573 จะมีป่าไม้เหลือเพียงแค่ร้อยละ 10 และอีกร้อยละ 10 อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม ร้อยละ 80 จะสูญหายไปพร้อมกับสิ่งมีชีวิตอีกหลายหมื่นชนิดที่ไม่สามารถหามาทดแทนได้
อุปสรรคในการคาดการณ์อัตราการตัดไม้ทำลายป่า ไม่มีสิ่งใดเกินไปกว่าการคาดการณ์ที่มีความหลากหลายกว้างมากของอัตราการตัดไม้ทำลายป่าในเขตป่าฝน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางกลุ่มโต้แย้งว่า 1 ใน 5 ของป่าฝนเมืองร้อนทั้งหมดบนโลกถูกทำลายในช่วงปีพ.ศ. 2503-2533 ป่าฝนเมื่อ 50 ปีก่อนครอบคลุมพื้นผิวของโลกถึงร้อยละ 14 และลดลงร้อยละ 6 ป่าเขตร้อนทั้งหมดจะหายไปภายในปีพ.ศ. 2633
ในระหว่างนั้น อลัน เกรนเจอร์ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ โต้แย้งว่าไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ ว่าจะมีความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าฝนในระยะยาว บยอร์น ลอมบอร์ก ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Sceptical Environmentalist (นักสิ่งแวดล้อมช่างสงสัย) อ้างว่าพื้นที่ป่าปกคลุมทั่วโลกมีจำนวนคงที่ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ในทำนองเดียวกัน บางคนอ้างว่าพื้นที่ป่าฝนทุกเอเคอร์ถูกตัดลงทุกปี พื้นที่ป่าที่ขึ้นใหม่ที่เจริญเติบโตในเขตร้อนมีมากกว่า 50 เอเคอร์ (20 เฮกตาร์)
มุมมองที่ไม่ตรงกันเหล่านี้เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของขอบเขตการตัดไม้ทำลายป่าในป่าเมืองร้อน ในประเทศเขตร้อนการคาดคะเนการตัดไม้ทำลายป่ายังไม่แน่นอนและอาจมีข้อผิดพลาดได้มากถึงบวก/ลบไม่เกินร้อยละ 50 ในช่วงปีพ.ศ. 2545 การวิเคราะห์จากภาพถ่ายจากดาวเทียม แนะว่าอัตราการตัดไม้ทำลายป่าในเขตร้อนชื้น (เนื้อที่ประมาณ 5.8 ล้านเฮกตาร์ต่อปี) ต่ำลงพอสังเขปร้อยละ 23 ซึ่งต่ำกว่าอัตราที่ใช้อ้างอิงโดยทั่วไปมากที่สุด ในทางกลับกันผลการวิเคราะห์ชิ้นใหม่จากภาพถ่ายจากดาวเทียมเผยให้เห็นว่าการตัดไม้ทำลายป่าฝนอเมซอนเกิดขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ 2 เท่า
มูลนิธิป่าฝนประจำกรุงลอนดอน สังเกตว่าตัวเลขที่องค์การสหประชาชาติมี อยู่บนพื้นฐานของการกำหนดว่าพื้นที่ป่ามีบริเวณที่มีต้นไม้ปกคลุมน้อยเพียง 10% ซึ่งอาจรวมถึงพื้นที่ที่มีลักษณะระบบนิเวศวิทยาคล้ายทุ่งหญ้าสะวันนาและเป็นป่าที่เสียหายอย่างรุนแรงคำวิจารณ์อื่น ๆ จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่าพวกเขาไม่แยกความแตกต่างระหว่างประเภทของป่า และข้อมูลอ้างอิงเป็นส่วนใหญ่จากรายงานของกรมป่าไม้ในแต่ละประเทศ ซึ่งไม่บรรจุข้อมูลที่ไม่เป็นทางการอย่างการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย
นอกจากความไม่แน่นอนเหล่านี้แล้ว มีข้อตกลงว่าการทำลายป่าฝนยังคงเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ป่าฝนบริเวณชายฝั่งของแอฟริกาตะวันตกหายไปมากถึงร้อยละ 90 ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2443 ในเอเชียใต้ ป่าฝนประมาณร้อยละ 88 สูญหายไป ป่าฝนส่วนมากที่ยังเหลือบนโลกนี้คือที่อยู่ในลุ่มน้ำอเมซอน ซึ่งป่าฝนอเมซอนครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4 ล้านตารางกิโลเมตร ภูมิภาคที่มีอัตราการทำลายป่าเมืองร้อนมากที่สุดในช่วงปีพ.ศ. 2543 – 2548 คือทวีปอเมริกากลาง (สูญเสียพื้นที่ป่าร้อยละ 1.3 ในแต่ละปี) และทวีปเอเชียในเขตร้อน
ในทวีปอเมริกากลาง 2 ใน 3 ของพื้นที่ป่าเขตร้อนในที่ราบลุ่มกลายเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ตั้งปีพ.ศ. 2493 และร้อยละ 40 ของป่าฝนทั้งหมดสูญหายไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว บราซิลสูญเสียพื้นที่ป่ามาตาแอตแลนติกาไปร้อยละ 90-95 มาดากัสการ์สูญเสียป่าฝนทางด้านตะวันออกร้อยละ 90 ในขณะที่ปีพ.ศ. 2550 ป่าไม้ของเฮติเหลือน้อยกว่าร้อยละ 1 ประเทศเม็กซิโก อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย พม่า มาเลเซีย บังคลาเทศ จีน ศรีลังกา ลาว ไนจีเรีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ไลบีเรีย กินี กานา และโคตดิวัวร์ สูญเสียพื้นที่ป่าฝนขนาดใหญ่ บางประเทศ ที่เด่นชัดคือบราซิล ประกาศว่าปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเป็นปัญหาฉุกเฉินของชาติ
การควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า
การลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (Reducing Emissions from การตัดไม้ทำลายป่า and Forest Degradation - REDD)
องค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ รวมถึงองค์กรสหประชาชาติและธนาคารโลก ได้เริ่มพัฒนาโครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า ขอบเขตของงานที่ครอบคลุมเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (REDD) ช่วยอธิบายประเภทของโครงการ ซึ่งใช้เงินโดยตรงหรือใช้สิ่งจูงใจอื่นเพื่อกระตุ้นให้ประเทศกำลังพัฒนาจำกัดหรือลดปริมาณการตัดไม้ทำลายป่า
การทำไร่นา
มีการพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อให้ทำกสิกรรมได้อย่างปราณีตขึ้น เช่น การปลูกผลผลิตลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูง การทำเรือนกระจก การทำสวนที่เป็นส่วนประกอบของอาคารอิสระ และการปลูกผักในน้ำ แนวทางเหล่านี้มักจะต้องพึ่งความช่วยเหลือจากสารเคมีเพื่อรักษาระดับการให้ผลผลิตในจำนวนที่ต้องการ การทำการเกษตรแบบหมุนเวียนช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน การทำการเกษตรอย่างปราณีตอาจลดสารอาหารที่อยู่ในดินโดยการใช้แร่ธาตุจำนวนเล็กน้อยในอัตราเร่ง ซึ่งต้องใช้ในการทำให้ผลผลิตเติบโต
การจัดการป่าไม้
ความพยายามที่จะหยุดหรือชะลอการตัดไม้ทำลายป่ามีมาหลายศตวรรษเพราะรู้กันมานานแล้วว่าการตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดความเสียหายทางธรรมชาติ ในบางกรณีก็มากพอที่จะทำให้สังคมมนุษย์ล่มสลายไป ในตองกา ผู้ปกครองชั้นสูงสุดออกนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างรายได้ระยะสั้นจากการแปรสภาพป่าให้เป็นพื้นที่เพาะปลูก กับปัญหาการสูญเสียป่าไม้ระยะยาวที่อาจจะเกิดขึ้น ในระหว่างที่เมืองโทกุงะวะ ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 โชกุนได้พัฒนาระบบที่มีความซับซ้อนสูงในการวางแผนระยะยาวเพื่อหยุดและพลิกผันสภาพการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดในศตวรรษที่ผ่านมา ผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ แทนการใช้ไม้ซุง และการใช้ที่ดินที่เคยทำการเกษตรมาหลายศตวรรษให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในช่วงศตวรรษที่ 16 เจ้าของที่ดินในเยอรมนีพัฒนาแผนวนวัฒนาวิทยาเพื่อรับมือกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านั้นมักจะมีขีดจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อมคือต้องมีฝนตกเพียงพอ ฤดูกาลไม่แห้งแล้ง และดินต้องใหม่มาก (เกิดจากปรากฏการณ์ภูเขาไฟหรือการเปลี่ยนสภาพของธารน้ำแข็ง) เพราะหากใช้ดินที่แก่และมีความอุดมสมบูรณ์น้อย ต้นไม้จะเติบโตช้าเกินไป เกินกว่าที่จะเพาะปลูกแบบวนวัฒนาวิทยาได้อย่างประหยัด ในขณะที่บริเวณที่มีฤดูแล้งมาก ๆ จะมีความเสี่ยงอยู่เสมอที่ไฟป่าจะทำลายผลิตผลจากต้นไม้ก่อนที่จะเติบโตเต็มวัย
ในพื้นที่ที่มีการตัดและเผาป่า หากเปลี่ยนเป็นการตัดและเผาให้เป็นถ่าน จะช่วยป้องกันปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นอย่างฉับไวและปัญหาความเสื่อมโทรมของดินซึ่งตามมาภายหลัง ถ่านชีวภาพจึงเกิดขึ้น
และส่งกลับลงไปสู่ดิน ซึ่งวิธีนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นวิธีที่มีเสถียรภาพในการแยกธาตุคาร์บอน แต่ยังเป็นการพัฒนาผืนดินที่มีประโยชน์อย่างมากอีกด้วย เมื่อผสมกับมวลชีวภาพในดินจะทำให้เกิดดินดำเทอรา พรีต้า หนึ่งในชนิดของดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก และเป็นชนิดเดียวที่รู้กันว่าสามารถฟื้นฟูตัวเองได้
การฟื้นฟูสภาพป่า
ในหลาย ๆ พื้นที่บนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การฟื้นฟูสภาพป่าและการปลูกป่าเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า จำนวนของป่าไม้เพิ่มขึ้นใน 22 ประเทศจาก 50 ประเทศที่มีพื้นที่ป่าเยอะที่สุดในโลก ในช่วงปีพ.ศ. 2543-2548 เอเชียมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นทั้งหมด 1 ล้านเฮกตาร์ ป่าเขตร้อนในเอลซัลวาดอร์ขยายพื้นที่มากกว่าร้อยละ 20 ในช่วงปีพ.ศ. 2535-2544 และเนื่องจากกระแสดังกล่าวนี้ มีการศึกษานำเสนอว่า ป่าไม้ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 (เป็นพื้นที่ที่มีขนาดเท่าประเทศอินเดีย) ในปีพ.ศ. 2593 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีการทำลายป่าในระดับมหภาค ในอดีตรัฐบาลกำหนดว่า พลเมืองทุกคนที่มีสุขภาพดี อายุตั้งแต่ 11-60 ปี ต้องปลูกต้นไม้ปีละ 3-5 ต้น หรือไม่ก็ช่วยเหลืองานทางด้านป่าไม้ในปริมาณเทียบเท่า รัฐบาลอ้างว่าอย่างน้อยจะปลูกต้นไม้ได้ 1 พันล้านต้นในประเทศจีนทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2525 ทุกวันนี้ไม่ต้องมีข้อกำหนดนี้แล้ว ทว่าทุกวันที่ 12 มีนาคม ของทุกปี คือวันปลูกต้นไม้ของประเทศจีน นอกจากนั้นยังเป็นการแนะนำโครงการกำแพงสีเขียวของประเทศจีน ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะหยุดยั้งการขยายตัวของทะเลทรายโกบีด้วยการปลูกต้นไม้
อย่างไรก็ตาม ต้นไม้จำนวนมากเหี่ยวเฉาตายหลังจากที่ปลูก (มากถึงร้อยละ 75) โครงการนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จนัก พื้นที่ป่าในประเทศจีนเพิ่มขึ้น 47 ล้านเฮกตาร์ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 จำนวนทั้งหมดของต้นไม้รวมทั้งสิ้นประมาณ 35,000 ล้านต้นและพื้นที่ที่มีป่าปกคลุมของแผ่นดินจีนทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.55 เมื่อ 20 ปีที่แล้วพื้นที่ที่มีป่าปกคลุมมีเพียงร้อยละ 12 แต่ตอนนี้มีร้อยละ 16.55
ในประเทศทางตะวันตก การเพิ่มขึ้นของความต้องการของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์จากไม้ ซึ่งผลิตและเก็บเกี่ยวมาจากวิธีการแบบยั่งยืนทำให้เจ้าของที่ดินในป่าและอุตสาหกรรมป่าไม้ต้องรับผิดชอบมากขึ้นเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้และการตัดไม้เพื่อทำซุง
โครงการเพื่อช่วยเหลือป่าฝนของมูลนิธิอาร์เบอร์เดย์ เป็นมูลนิธิการกุศลที่ช่วยป้องกันปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า มูลนิธิใช้เงินบริจาคกว้านซื้อและอนุรักษ์พื้นที่ป่าฝนก่อนที่บริษัทค้าซุงจะซื้อ มูลนิธิอาร์เบอร์เดย์ปกป้องผืนดินจากการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งยังเป็นการล้อมกรอบวิถีชีวิตที่เป็นแบบดั้งเดิม ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า องค์กรดังเช่น สำนักงานป่าไม้สากล องค์กรคูลเอิร์ท กลุ่มนักนิยมธรรมชาติ กองทุนระดับโลกเพื่อธรรมชาติ กลุ่มอนุรักษ์สากล มูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์ในแอฟริกา และกลุ่มกรีนพีซมุ่งเน้นในการปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยในป่าเช่นกัน
กลุ่มกรีนพีซมีภารกิจเฉพาะคือแสดงรายละเอียดของป่าไม้ที่ยังไม่ได้รับความเสียหายลงบนแผนที่และลงข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ฮาวสตัฟเวิร์ค (HowStuffWorks) ทำแผนที่คร่าว ๆ แบ่งเป็นหัวข้อ เพื่อแสดงให้เห็นจำนวนป่าไม้ที่มีอยู่ก่อนยุคที่มนุษย์ถือกำเนิด (8,000 ปีมาแล้ว) และระดับของป่าในปัจจุบัน (ที่มีจำนวนลดลงแล้ว) แผนที่เหล่านี้ทำเครื่องหมายบอกจำนวนการฟื้นฟูสภาพป่าที่ต้องการการซ่อมแซมความเสียหายที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง
การปลูกป่า
เพื่อให้มีไม้พอกับความต้องการของโลก จึงมีคำแนะนำว่าการปลูกป่าที่ให้ผลผลิตสูงเป็นเรื่องเหมาะสม คำนวณแล้วว่าการปลูกป่าที่ให้ผลผลิตเพียง 10 ลูกบาศก์เมตรต่อเฮกตาร์ต่อปี (เป็นค่า MAI ที่ต่ำมาก) สามารถให้ทรัพยากรไม้ซุงที่จำเป็นต่อการค้าสากลโดยอาศัยเพียงร้อยละ 5 ของพื้นที่ป่าที่มีอยู่บนโลก ในทางกลับกัน ป่าตามธรรมชาติผลิตไม้ได้เพียง 1-2 ลูกบาศก์เมตรต่อเฮกตาร์ ดังนั้นต้องอาศัยพื้นที่ป่ามากขึ้น 5-10 เท่า จึงจะผลิตได้พอที่จะตอบสนองความต้องการไม้ แชด โอลิเวอร์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้เสนอให้ปลูกป่าที่ให้ผลผลิตสูงเป็นแบบโมเสกในพื้นที่กระจายสลับกันอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน งานวิเคราะห์ข้อมูลชิ้นหนึ่งขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติแนะว่าโครงการปลูกป่าและฟื้นฟูสภาพป่าสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์พื้นที่ป่าทั่วโลกลดลงได้ ภายใน 30 ปี

การฟื้นฟูสภาพป่าด้วยการปลูกต้นไม้สามารถอาศัยประโยชน์จากรูปแบบการตกของฝนที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถทำได้ด้วยการศึกษาว่ามีที่ใดที่คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นและเริ่มโครงการฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่เหล่านั้น พื้นที่เช่น ประเทศไนเจอร์ เซียร์ราลีโอน และไลบิเรีย เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในลำดับต้น ๆ เพราะประเทศเหล่านี้เดือดร้อนจากพื้นที่ทะเลทรายที่กำลังขยายตัว (ทะเลทรายซาฮารา) และความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังลดลง (ซึ่งประเทศเหล่านี้กำลังเป็นแหล่งสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น