วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาจราจรซ้ำซาก


               ปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ทั้งกรุงเทพมหานครและหัวเมืองในต่างจังหวัด มีอยู่ไม่กี่ประการที่ทำให้รถติดเช่น รถโดยสารสาธารณะจอดไม่ตรงป้าย กีดขวางหรือจอดไม่ชิดด้านซ้าย การขับรถปาดเข้าขวางช่องจราจร การขับรถโดยไร้วินัยไม่เคารพกฎจราจร โดยเฉพาะในช่วงเวลาเปิดเทอม ที่บรรดาผู้ปกครองมักจอดรถส่งบุตรหลานหน้าโรงเรียนที่อยู่ติดถนนลักษณะกีดขวาง เมื่อการจราจรชะลอตัวทำให้เกิดติดขัดต่อเนื่องพันกันไปในถนนใกล้เคียงด้วย นี่คือจุดใหญ่ๆ ที่เป็นปัญหามาทุกเมื่อเชื่อวัน จนถึงขณะนี้ชาวบ้านก็ต้องพึ่งพาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปก่อนผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนที่ Application BMA livetraffic ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี สำหรับเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นที่ใช้ตรวจสอบสภาพการจราจรและเส้นทาง มีดังนี้ <http://traffic.longdo.com/> , <http://www.trafficpolice.go.th/report.php>



               มีความพยายามจากตำรวจจราจรในการจัดระเบียบประจำจุดที่มีปัญหาทั้งจุดตัดซอยและถนน บริเวณหน้าโรงเรียน พื้นที่ต่อเนื่องเรียกว่าถนนสายหลักในกรุงเทพฯ จะมีตำรวจคอยอำนวยความสะดวกตลอด แต่ปัญหาก็ยังมีต่อเนื่อง จะว่าไปแล้วแม้ตำรวจจะทุ่มกำลังไปมากขนาดไหน แต่ก็ไม่ทำให้การจราจรคลี่คลายไปได้ ด้านหนึ่งเพราะความยาวถนนในกรุงเทพฯ หากเทียบระยะทางกับปริมาณรถก็ไม่พอรองรับ เมื่อรถออกมาอยู่ร่วมกันบนถนนก็ยากที่จะระบายให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสั้น ประกอบกับรถยนต์ในปัจจุบันทะลักออกมามากมายโดยไม่มีแผนควบคุม ตรงกันข้ามรัฐบาลยังส่งเสริมให้ประชาชนมีรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นจากโครงการรถยนต์คันแรก ทำให้ปริมาณรถมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
               ในสถานการณ์ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจและกทม.ทำได้เพียงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผู้ปกครองให้หลีกเลี่ยงเส้นทางสายหลัก ซึ่งความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องยากเพราะถนนเกือบทุกเส้นในกทม. ล้วนมีโรงเรียนตั้งอยู่ขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ทำให้เกิดผลกระทบในภาพรวมเกือบจะทุกเส้นทางทั้งตอนเช้าและตอนเย็น โอกาสหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางที่คล่องตัวกว่าในช่วงเวลาเร่งรัดจึงทำได้ยากในทางปฏิบัติ ไม่เว้นแม้แต่เส้นทางลัดที่ทะลุระหว่างถนนหรือซอยซึ่งก็มีปัญหาต่อเนื่องด้วยเช่นกันและอาจจะไปกระจุกตัวอีกด้วยซ้ำหากไม่มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยการจราจรให้

               ที่ผ่านมาการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้นยังไม่มีความชัดเจน สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือแม้แต่กรุงเทพมหานคร ในแง่ผังเมืองก็ทำได้เพียงแก้ปัญหาไปตามสภาพการณ์เท่านั้น พอถึงช่วงปิดเทอมการจราจรดีขึ้นก็ลดกำลังเจ้าหน้าที่ลง พอถึงช่วงเวลาเปิดเทอม ก็จะเพิ่มปริมาณและออกแผนการปฏิบัติซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าเสียมากกว่า ปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์วางแผนมาจากระดับรัฐบาลเพราะเป็นเรื่องใหญ่มีหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้ารัฐบาลไม่เป็นเจ้าภาพวางแผนรองรับทั้งระยะสั้นและระยะยาวในขณะที่รัฐบาลยังมีนโยบายที่สร้างปัญหาสะสมทางอ้อม ยิ่งทำให้การแก้ไขในอนาคตยุ่งยากกลายเป็นปมใหญ่ขึ้นไปอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น